monkeymeal logo



❝ ทำไมเรา จึงมักจะได้ยินคุณหมอ หรือนักพัฒนาการพูดถึงความสำคัญของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอยู่เสมอ เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อ (ส่วนมือ ข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ) ที่เป็นอวัยวะสำคัญในการหยิบ จับ สิ่งของต่าง ๆ ❞

 

การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กนั้น จะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เพราะการฝึกให้เด็กใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก นอกจากเป็นการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือของเด็ก ๆ ให้แข็งแรง ใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วในการประกอบกิจวัตร ประจําวันด้วยตนเอง เช่น การใส่-ถอด กระดุม รูดซิป การแปรงฟัน ผูกเชือกรองเท้า งานศิลปะแล้ว ยังจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้มือข้างที่ถนัดในการเขียนหนังสือต่อไปเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม เพราะหากเด็ก ๆ ไม่ได้รับการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างถูกวิธี และไม่มีความพร้อมมากพอ อาจส่งผลให้เด็กๆ ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สําหรับเด็ก ๆ จึงมีความจําเป็นที่จะต้องจัดให้เหมาะสมกับเด็ก เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ โดยคํานึงถึงตัวเด็กเป็นหลัก และส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกทางความคิด จินตนาการ และกิจกรรมที่จัดควรเปิดโอกาส ให้เด็กเป็นผู้ริเริ่ม มีการยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ และให้เด็กมีโอกาสสังเกต สํารวจ ค้นคว้า ทดลอง แก้ปัญหา ด้วยตนเอง

วันนี้ เราได้มีกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สําหรับเด็ก ๆ เพิ่มประสบการณ์ ฝึกสมาธิ และฝึกแก้ปัญหา กับ ตัวต่อเสริมทักษะ มาแนะนำกัน

 

การเล่นตัวต่อเสริมทักษะอย่างไร ?

 

❝ การเล่นตัวต่อเสริมทักษะ เสริมสร้างพัฒนาการเด็กได้หลากหลายด้าน ❞

เช่น ช่วยฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง ต่อยอดไปสู่การใช้มือของเด็กเพื่อจับดินสอเขียนหนังสือได้คล่อง ช่วยฝึกสายตาให้ทำงานประสานกันได้ ช่วยในการกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง มีการใช้ทักษะทางสมองเพิ่มขึ้น เด็ก ๆ จะเรียนรู้กระบวนการหาวิธีใหม่ ๆ ในการต่อ , สร้าง หรือประกอบสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน การนำตัวต่อแต่ละชิ้นมาวางซ้อนกันจะทำให้เด็กมีสมาธิในการเล่นที่ละเอียดมากขึ้น

 

วิธีการส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการต่อ

 

① เสริมสร้างสมาธิ

ในวัยเด็กเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็ก ๆ จะมีความจดจ่อในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลาที่จำกัด ดังนั้นต้องพยายามทำกิจกรรมหรือเล่นกับเด็ก ชักชวนให้เด็กเกิดความสนใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เช่น “ลูกจะต่อเป็นรูปอะไรดีคะ” หรือ “เรามาแข่งกันต่อให้สูง ๆ ดีกว่า” สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกเกิดแรงบันดาลใจ และมีความพยายามในการทำกิจกรรมที่มีอยู่มากขึ้น

blog image 

 

② ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก

การเล่นตัวต่อในช่วงแรกอาจเลือกชิ้นที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้เด็กสามารถหยิบจับได้ง่าย เพราะในช่วงวัยนี้เด็กจะใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีขึ้น พวกเขาจะเริ่มอยากหยิบจับและทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อยากขีดเขียน อยากจับ ซึ่งการเล่นตัวต่อนั้นจะช่วยฝึกให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น การใช้มือกดหรือต่อในแต่ละชิ้นจะช่วยพัฒนาให้กล้ามเนื้อนิ้ว มือ ข้อมือ แข็งแรงขึ้น

 blog image

 

③ ฝึกการแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้

การเล่นตัวต่อนั้น เปรียบเสมือนการฝึกให้เด็ก ๆ ได้ทำงานหนึ่งชิ้น เพราะในการต่อแต่ละครั้ง ขั้นแรกเด็กต้องมีการวางแผนว่าอยากจะต่อเป็นรูปอะไร จากนั้นเด็กก็จะต้องมีการสังเกต และแยกแยะชิ้นส่วนต่างๆ ว่าแต่ละชิ้นส่วน จะสามารถนำมาต่อตามแบบที่ตัวเองวางแผนได้หรือไม่ และเมื่อต่อไปสักพัก เด็กอาจเกิดปัญหา เด็กจึงจะก็ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ลองผิดลองถูก จนกว่าจะต่อได้สำเร็จ ตัวต่อจัดเป็นของเล่นปลายเปิดที่ช่วยฝึกการแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

 blog image

 

④ ช่วยต่อยอดทักษะทางวิชาการ

ทุกครั้งที่เด็กเล่นตัวต่อ เด็ก ๆ จะเรียนรู้กระบวนการหาวิธีใหม่ ๆ ในการต่อ สร้าง หรือประกอบสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เด็กจะเรียนรู้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ขั้นต้น ด้วยการสังเกตโครงสร้าง และรับรู้เรื่องแรงโน้มถ่วง เวลาที่ต่อ เด็ก ๆ จะได้ฝึกการใช้ทักษะคณิตศาสตร์ในการนับ และคำนวณ ว่าจะใช้ตัวต่อกี่ชิ้นในการสร้างผลงาน หรือเด็กจะได้ฝึกสังเกตเปรียบเทียบความยาว ความกว้างของรูปทรงตัวต่อในแต่ละชิ้น และที่สำคัญในการเล่น ชักชวนให้เด็กพูดคุยและเล่าถึงกิจกรรมนั้น ๆ ก็จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดทักษะในการใช้ภาษาที่ดีขึ้นด้วย

blog image 

โพสต์โดย
โพสต์โดย
BUSINESS DEVELOPMENT
ด้วยดีกรีนักจิตวิทยาผนวกกับนักบริหารธุรกิจ ซึ่งเข้าอกเข้าใจในความต้องการของลูกค้าและคนรอบตัวในทุก generation อีกทั้งยังมี passion ในเรื่องของเด็กๆ มีความชื่นชอบทั้งด้านวิชาการและด้านบันเทิง สร้างสรรค์ไอเดีย และดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจทุกด้านให้เติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน